วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ข่าวการเงิน


นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน ยังคงหดตัว แต่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับมีนาคม แม้ว่าจะมีเหตุวุ่นวายทางการเมืองและเป็นเดือนที่มีวันหยุดมาก แต่ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่คาด โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.6 เช่นเดียวกับดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากหมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า
ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 16.4 ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิตยังต่ำคือ ร้อยละ 59.7 และความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อยู่ที่ 39.2 ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 40 เนื่องจากยังกังวลภาวะการเมืองและภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบร้อยละ 7.1 เป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 แต่พัฒนาการที่เห็นได้จากดัชนีชี้วัดเดือนต่อเดือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่มั่นใจว่า สัญญาณที่ฟื้นขึ้น เป็นเพียงภาวะชั่วคราวหรือไม่ จึงยังต้องติดตามปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศ นอกจากนี้ในเดือนเมษายน 2552 ยังพบว่าสินเชื่อภาคเอกชนเพิ่มขึ้น หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 29,400 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อผู้บริโภคและส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ของแบงก์รัฐ หลังรัฐบาลเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อ
ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 10,279 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 25.2 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 9,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 36.4 ทำให้ดุลการค้ายังเกินดุล 619 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นางอมรา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของผู้ส่งออกที่ต้องการให้ ธปท. ดูแลเงินบาทให้อ่อนค่าว่า ปัจจุบัน ธปท. ก็ดูแลอยู่ แต่การเคลื่อนไหวของเงินบาทต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจ โดยเงินบาทที่แท้จริง หากเทียบกับเพื่อนบ้านพบว่า เงินบาทอ่อนลง ทั้งนี้การดูแลเงินบาทจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะหากทำให้เงินบาทอ่อนลงเพื่อช่วยการส่งออก ก็จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันซึ่งมีผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นการดำเนินนโยบายจะต้องให้เกิดความสมดุล และ ธปท. ไม่สามารถแยกเงินบาทเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับผู้ส่งออกและผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะปัจจุบันมีการเปิดเสรีทั้งการค้าและการเงิน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนหดตัวร้อยละ 0.9 เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1 โดย ธปท. ไม่กังวลแม้ว่า ราคาน้ำมันจะขยับสูงขึ้นมาที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพราะเมื่อกรกฎาคม 2551 ราคาน้ำมันเคยสูงถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลมาแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น